วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

Learning log 7


23 September 2019



Study atmosphere







\


















EF หรือ Executive Functions จะประกอบด้วย ทักษะ 9 ด้าน คือ

กลุ่มทักษะพื้นฐาน
    1. Working memory = ความจำที่นำมาใช้งาน หรือ ความสามารถในการเก็บประมวล และดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ
    2. Inhibitory Control = ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรองควบคุมแรงอยาก หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูด
    3. Shiftingหรือ Cognitive Flexibility = ความสามารถในการยืดหยุ่น พลิกแพลง ปรับตัว เป็นจุดตั้งต้นของการคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์

กลุ่มทักษะกำกับตนเอง
    4. Focus Attention = ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก
    5. Emotional Control = ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยวฉุนเฉียว ขี้หงุดหงิดง่าย จัดการกับความเครียดความเหงาได้ มีอารมณ์มั่นคง และแสดงออกแบบที่ไม่รบกวนผู้อื่น
    6. Self-Monitoring = คือ การประเมินตนเองรวมถึงสะท้อนผลการทำงาน เพื่อหาจุดบกพร่อง แล้วแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้น การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การเห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบโครงสร้าง จนถึงการแตกเป้าหมาย ให้เป็นขั้นตอน รวมถึงรู้ตัวว่า กำลังทำอะไร  ได้ผลอย่างไร

กลุ่มทักษะปฏิบัติ
    7. Initiating = ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
    8. Planning and Organizing = การวางแผนและดำเนินการตั้งแต่ตั้งเป้าหมาย เห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ จนถึงการดำเนินการ และประเมินผล
    9. Goal- Directed Persistence = ความพากเพียรให้บรรลุเป้าหมายมุ่งมั่น ฝ่าฟันอุปสรรคและล้มแล้วลุกได้ เมื่อตั้งใจและลงมือทำแล้ว มีความมุ่งมั่นบากบั่นไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันจนถึงความสำเร็จ

        ทักษะเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้เกิดการ “ฝังชิป” เป็นโครงสร้างในสมองของเด็ก โดยเฉพาะในวัย 3-6 ปี ซึ่งเมื่อฝังตัวแล้วก็จะคงอยู่เป็นนิสัยหรือคุณสมบัติของบุคคลไปตลอดชีวิต

การดูแลลูกที่ถูกต้องในวัยที่สำคัญ เป็นการพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ
    ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น
        Inhibitory Control  หัดให้ลูกรอ ไม่ใช่ว่าลูกอยากได้อะไร ต้องได้เดี๋ยวนั้น ตอนนั้น
        Shift/Cognitive Flexibility ฝึกให้ลูกรู้จักยืดหยุ่นเมื่อผิดหวัง เช่น ลูกอยากกินแอปเปิ้ล แต่ไม่มี ก็จะถามลูกว่าเปลี่ยนเป็นองุ่น หรือ ส้มแทนได้มั้ย
        Focus/Attention  ฝึกและให้เวลาลูกเล่นในสิ่งที่ชอบให้ได้ช่วงระยะเวลานึง อ๊อตโต้ชอบเล่น Lego เค้าจะสามารถนั่งต่อได้คนเดียวเป็นเวลานานเลยทีเดียว ถือว่าฝึกสมาธิไปในตัว
        Initiating  ตั้งเป้าหมายและให้ลงมือทำ เช่น วันนี้จะล้างรถ + รดน้ำต้นไม้ ก็ต้องฝึกให้เค้าทำตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ด้วย
        Planning/Organizing อันนี้ฝึกง่ายเลย เวลาทำขนมกับลูก บุ๊งมักจะแพลนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เวลาเราแพลน ก็บอกลูกไปด้วยว่า ก่อนจะต้มน้ำเชื่อม ต้องตอกไข่ก่อน แยกไข่แดงออกจากไข่ขาวให้เรียบร้อย แล้วค่อยต้มน้ำ เป็นต้น

การศึกษาวอลดอร์ฟ
      หลักสูตรการเรียนการสอนได้ถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัยเพื่อตอบสนองพัฒนาการ ของเขา ครูมีอิสระในการทำงานภายใต้แนวทางนี้ที่จะนำ เสนอวิธีการสอนโดยใช้สื่อการสอนในรูปแบบของตัวเอง เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความกระตือ- รือร้นในการเรียน ส่งเสริมให้เขาค้นพบและเรียนรู้ด้วยตัว เองและด้วยวิธีการนี้เด็กๆ จะได้รับการศึกษาผ่าน มือ หัวใจ และสมอง (3 Hs = Hands, Heart, Head) ด้วยความสามารถจากการลงมือทำ การสัมผัสด้วยใจ และการใช้ศักยภาพในการคิด

งานหลักของโรงเรียนวอลดอร์ฟ คือ การเตรียมการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้แก่นักเรียน ไม่เพียงแค่เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ แต่มีอิสระจากภายใน มีความมั่นคง และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสร้างสรรค์

หลักสูตรและวิธีการสอน
     การศึกษาวอลดอร์ฟ จะเริ่มการเรียนรู้อย่างเป็นรูปแบบเมื่อเด็กอายุ 6 หรือ 7 ปี ก่อนหน้านั้นเด็กๆ จะอยู่ในชั้นอนุบาล
วัยอนุบาล จะเน้นการปลูกฝังและให้ความสำคัญในเรื่องความดี เด็กๆ จะถูกกระตุ้นและส่งเสริมให้คิดดีทำดี และในช่วงวัยนี้เด็ก เป็นยอดนักเลียนแบบ พวกเขาดูดซับสิ่งต่างๆ รอบตัวดังฟองน้ำ ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งจะเป็นบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาตัวเขาในอนาคต ในชั้นเรียนอนุบาลจะให้ความสำคัญกับการมีตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้เลียนแบบ และแวดล้อมด้วยสิ่งที่สวยงามเพื่อให้เขาซึมซับ ห้องเรียนจะมีแสงที่อ่อนโยน พร้อมด้วยเครื่องเรือนไม้แบบง่ายๆ ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ลูกสน เปลือกหอย ตุ๊กตาทำมือ และผ้าคลุมหลากสี จะช่วยให้เด็กได้พักประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้นจากโลกภายนอก และจากการเล่นของเล่นธรรมชาติเหล่านี้ เด็กๆ ซึ่งยังอยู่ในสภาวะกึ่งฝันจะเริ่มรู้สึกตัวและซาบซึ้งต่อความงามในธรรมชาติ
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเล่นของเล่น “ที่ไม่สมบูรณ์” เช่น ตุ๊กตาทำมือซึ่งมีเพียงส่วนประกอบหลักๆ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาจินตนาการให้แข็งแรง เช่นเดียวกับกระดาษแข็งจากกล่องเก่าๆที่สามารถเล่นได้เป็นชั่วโมงๆโดยการใช้เจตจำนงด้านจินตนาการอย่างเต็มที่ เด็กๆจะเปลี่ยนลูกสนเป็นเงิน ขนมปัง หรือ เศษไม้ หรือ อะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการในการเล่นนั้นๆ แนวทางของสไตเนอร์มีความแตกต่างจากกระแสที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันที่มักให้ของเล่นสำเร็จรูปแก่เด็ก ของเล่นสำเร็จรูปที่หาได้ทั่วไปเหล่านี้จะไม่มีพื้นที่สำหรับเด็กในการพัฒนาจินตนาการเลย


การจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร (Cooking) สำหรับ เด็กปฐมวัย
    การจัดกิจกรรมการประกอบอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย หรือที่เรียกว่า “ Cooking ” เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงและเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นกระบวนการผ่านการทำอาหาร ช่วยให้เด็กรู้จักวางแผนในการจัดเตรียมวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยเน้นการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือในการลงมือปฏิบัติจริง จากการทำกิจกรรมประกอบอาหารตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ตลอดจนได้เรียนรู้และรู้จักอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร ช่วยให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดและพัฒนาทักษะอย่างสมดุล ทั้งยังปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมด้านสุขอนามัย และโภชนาการที่ดีอีกด้วย

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร
ในการจัดกิจกรรมการประกอบอาหารสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น คุณครูและผู้ปกครองสามารถกำหนดเป็นขั้นตอนอย่างง่าย ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนกำหนดเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

1. ขั้นนำ
เด็กช่วยคิดหาเมนูอาหารที่สนใจร่วมกับคุณครูหรือผู้ปกครอง และสนทนาเกี่ยวกับวัตถุดิบ ส่วนผสม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ว่ามีอะไรบ้าง

2. ขั้นปฏิบัติ
มื่อเด็กได้จัดเตรียมวัตถุดิบและส่วนผสมที่จะนำมาปรุงอาหารในเมนูที่คิดแล้ว ให้ช่วยกันล้าง หั่น และปรุงสุก ทั้งนี้ ก่อนการประกอบอาหาร ให้คุณครูและผู้ปกครองแนะนำขั้นตอนในการทำอาหาร พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับเด็ก เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่ทำกิจกรรมด้วยค่ะ

3. ขั้นสรุป
เมื่อเด็กทำการประกอบอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เด็กเล่าประสบการณ์การทำงานและขั้นตอนการทำงานว่าทำอย่างไร แล้วช่วยกันสรุปว่าเมนูที่ทำนั้นมีสีสัน กลิ่น รสชาติ เป็นอย่างไร ส่วนผสมและเครื่องปรุงใส่อะไรไปเท่าไหร่ รวมทั้งเครื่องปรุงแต่ละชนิดมีรสชาติเป็นอย่างไร เป็นต้น

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร
    กิจกรรมการประกอบอาหาร หรือกิจกรรม Cooking เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน สร้างความตื่นเต้นและเป็นสิ่งเร้าในการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก การจัดกิจกรรมนี้ จะไม่เน้นในผลงานของอาหารที่ทำสำเร็จ แต่อยู่ที่กระบวนการและขั้นตอนในการทำกิจกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก ดังนี้

1.ส่งเสริมทักษะด้านร่างกาย
การที่เด็กได้หั่นผัก หั่นผลไม้ ตักเกลือหรือน้ำตาลใส่ลงในหม้อ เทเครื่องปรุงและส่วนผสมลงไปในกระทะ การปั้นแป้งทำขนมหรือแม้กระทั้งการล้างผักหรือล้างอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กให้กับเด็ก นอกจากนี้ยังช่วยฝึกในเรื่องการประสานสัมพันธ์มือและตาของเด็กให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ

2.ส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์
เด็กจะได้ฝึกการควบคุมอารมณ์และรอคอย เช่น เด็กบางคนใจร้อน อยากให้อาหารสุกเร็ว ๆ แต่ถ้าเอาอาหารออกจากเตาก่อนเวลา ก็จะได้กินอาหารที่ไม่สุก เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ว่าทำไมต้องรอ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

3.ส่งเสริมทักษะด้านสังคม
เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม ผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการทำงานเป็นกลุ่ม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ พัฒนาการสื่อสารระหว่างกัน เด็ก ๆ จะได้วางแผนและรู้จักการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการแบ่งปัน มีน้ำใจ ช่วยเหลือและมีพฤติกรรมการเอื้อเฟื้อ มีความรับผิดชอบ รู้จักการปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองอีกด้วยค่ะ

4.ส่งเสริมทักษะด้านภาษา
เด็กจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากวัตถุดิบ อุปกรณ์ และส่วนผสมที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ถ้วย ชาม กระทะ เตาอบ ผักกาด แครอท น้ำปลา น้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังได้พัฒนาทักษะการพูดและการฟัง ผ่านการพูดคุยสนทนาตอบโต้กับคุณครูหรือผู้ปกครอง และเพื่อน ๆ หรือการแสดงความคิดเห็นในระหว่างการทำกิจกรรม Cooking

5.ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์
เด็กจะได้เรียนรู้และสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบ เมื่อนำมาปรุงจนสุกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น เกลือ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ ถ้าใส่มากจะมีรสชาติอย่างไร ใส่น้อยจะมีรสชาติอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้ฝึกฝนทักษะการเปรียนเทียบ การจำแนกประเภท การจัดกลุ่มของวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการประกอบอาหาร

6.ส่งเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์
เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ จากการชั่ง ตวง วัดเครื่องปรุง และส่วนผสมต่าง ๆ การเรียงลำดับ การนับจำนวน และการกะปริมาณ

7.ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
การให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดจานอาหาร เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางผัก การราดซอสและการจัดเรียงผลไม้ นอกจากนี้การให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเลือกเมนูอาหาร ก็ถือเป็นการกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กอีกด้วยค่ะ

8.ช่วยกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
กิจกรรมการประกอบอาหาร จะช่วยกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสของเด็กได้เป็นอย่างดี เช่น 
“ตา” มองเห็นวัตถุดิบและส่วนผสมต่าง ๆ “มือ” ได้สัมผัสผิวของวัตถุดิบ ผักและผลไม้ต่าง ๆ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร 
“หู” ฟังคำสั่งและคำแนะนำจากคุณครูหรือผู้ปกครอง ว่าขั้นตอนถัดไปคืออะไร ต้องทำอะไรต่อ เสียงสับหมู เสียงเครื่องครัวทำงาน
“จมูก” ได้กลิ่นของอาหาร กลิ่นของเครื่องปรุงต่าง ๆ 
“ปาก” ชิมรสชาติของวัตถุดิบ เช่น เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน หรือชิมเพื่อรู้ว่าอาหารที่ทำมีรสชาติอย่างไร ต้องเติมรสชาติไหนจึงจะได้รสอย่างที่ต้องการ

9.ช่วยสร้างสุขนิสัย สุขอนามัย และโภชนาการ
เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการและอาหารหลัก 5 หมู่ เช่น การทำผัดผักรวม เด็กจะเรียนรู้ว่าผักมีประโยชน์ให้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เนื้อหมูให้สารอาหารประเภทโปรตีน และไขมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยสอนให้เด็กเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และช่วยปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหารให้กับเด็ก

    การจัดกิจกรรมการประกอบอาหารนอกจากจะช่วยส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความคิดรวบยอด ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากรูปธรรม ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมตามวัย
    กระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น เกิดได้จากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเด็กเป็นหลัก ดังนั้น การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การเรียนรู้โดยการให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง (การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง) ทั้งนี้ คุณครูหรือผู้ปกครองควรเป็นผู้จัดหากิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำและรับประสบการณ์ที่หลากหลายด้วยตัวเด็กเอง จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเด็กให้มากขึ้น

ประเมินตนเอง : เข้าเรียนตรงเวลา แต่งกายเรียบร้อยและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม

ประเมินเพื่อน : เพื่อนตั้วใจเรียนดีค่ะ

ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ยกตัวอย่างให้นักศึกาาเข้าใจง่าย และสนุกในการตอบคำถามค่ะ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น